
สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดนครพนม
Tourist attractions in Nakhon Phanom Province




พระธาตุพนม




พระธาตุพนม ประดิษฐานอยู่ ในนอำเภอธาตุพนม ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของปีวอกและผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ พระธาตุ พนมไม่เพียงแต่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพนมเท่านั้นยังเป็นที่ เคารพของ ชาวไทยภาคอื่น ๆ และชาวลาวอีกด้วย ว่ากันว่าถ้าใครได้มานมัสการพระธาตุครบ 7 ครั้ง จะถือว่าเป็น “ลูกพระธาตุ” เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและจะมีความเจริญรุ่งเรือง หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนม 1 ครั้ง ก็ถือ เป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว


พระธาตุเรณูนคร
วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ปัจจุบันมี พระเทพวรมุนี เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549-ปัจจุบัน ประดิษฐาน ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนชยางกูร บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐ กว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.6 เมตร มีกำแพงล้อมองค์พระธาตุ 4 ชั้น องค์พระธาตุตั้งอยู่บนภูกำพร้า (เนินดินสูงจากพื้นธรรมดาประมาณ 3 เมตร) ภายในบริเวณมีบึงขนาดใหญ่เรียกว่าบึงธาตุพนม ในวันเพ็ญเดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีจะมีงานประจำปีเพื่อเป็นการนมัสการพระธาตุพนม


พญาศรีสัตตนาคราช
องค์พญาศรีสัตตนาคราช หล่อด้วยทองเหลือง มีน้ำหนักรวม 9,000 กก. เป็นรูปพญานาคขดหาง 7 เศียร ประดิษฐานบนแท่นฐานแปดเหลี่ยม กว้าง 6 เมตร ความสูงทั้งหมดรวมฐาน 15 เมตร สามารถพ่นน้ำได้ วัตถุประสงค์การก่อสร้างครั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี และความเชื่อเกี่ยวต่อเรื่องพญานาคของชาวไทย และชาวลาวที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง อีกทั้งยังต้องการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งสถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นแลนมาร์กแห่งใหม่อีกจุดหนึ่งของภูมิภาคนี้


หาดทรายทองศรีโคตรบูร
จังหวัดนครพนมนั้นแม้จะมีชื่อเสียงมากมายทั้งด้านประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ หรือแม้กระทั่งงานเทศกาลที่มีชื่อเสียงอันได้แก่งานเทศกาลวันออกพรรษาที่นักท่องเที่ยวนิยมมาชมบั้งไฟพญานาคที่เป็นดวงไฟลอยขึ้นมาจากลำน้ำโขงแล้ว จังหวัดนครพนมยังมีสวนสาธารณะและหาดทรายทองศรีโคตรบูรซึ่งนับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของประเทศไทยโดยนับว่าเป็น Unseen Thailand ที่นักท่องเที่ยวจะไม่ต้องไม่พลาดที่จะมาเยือนสวนสาธารณะและหาดทรายทองศรีโคตรบูรแห่งนี้หากมีโอกาส
สวนสาธารณะและหาดทรายทองศรีโคตรบูร คืออีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เป็นหาดทรายน้ำจืดที่สวยงามมากแห่งหนึ่งในภาคอีสาน โดยจะปรากฎให้เห็นในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น โดยปกติฤดูแล้งของภาคอีสานจะเป็นช่วงราวเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ของทุกปี หาดทรายจะยื่นออกไปไกลจนกระทั่งถึงบริเวณกลางลำน้ำโขง
หาดทรายนี้จะอยู่ตรงข้ามกับที่ทำการแขวงคำม่วน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและชมความงามของธรรมชาติโดยนักท่องเที่ยวและชาวจังหวัดนครพนมเองนิยมที่จะมาเดินเล่นกินลมชมวิวฝั่งประเทศลาวซึ่งถือว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับประเทศไทย เดินเที่ยวและเล่นน้ำบริเวณนี้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้บริเวณสวนสาธารณะและหาดทรายทองศรีโคตรบูรนั้นในยามเช้าในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์กำลังจะขึ้นจากขอบฟ้านั้น นับว่าเป็นภาพที่งดงามมากที่นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสมาชมพระอาทิตย์ขึ้นในช่วงเช้า ณ สวนสาธารณะและหาดทรายทองศรีโคตรบูร จะต้องประทับใจไม่รู้ลืมเลยทีเดียว


หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์
หอนาฬิกาแห่งนี้ชาวเวียดนามได้สร้างไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชาวนครพนม ที่ได้ให้ที่พักพิงในสมัยสงครามอินโดจีน เมื่อคราวย้ายกลับปิตุภูมิประเทศเวียดนาม สร้างเป็นรูปแบบที่เรียบง่าย สูงประมาณ ๕๐ เมตร ปัจจุบันหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวจังหวัดนครพนมจะต้องมาถ่ายภาพกลับไปเป็นที่ระลึก โดยเฉพาะบรรยากาศยามค่ำคืนหอนาฬิกาแห่งนี้จะถูกประดับด้วยแสงไฟเปลี่ยนสลับสีอย่างสวยงามแบบคลาสสิค นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเมืองนครพนม
การเดินทาง ตั้งอยู่บนถนนสุนทรวิจิตร เมื่อเดินทางมาจากถนนนิตโย (ทางหลวงหมายเลข 22) สุดถนนถึงสามแยกไฟแดงแลนด์มาร์คพญานาคให้เลี้ยวซ้ายไปราว ๖๕๐ เมตร


พระธาตุนคร
พระธาตุนคร พระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์ ประดิษฐานที่วัดมหาธาตุ ถ.สุนทรวิจิตร อ.เมือง บริเวณริมฝั่งโขง ภายในองค์ พระธาตบรรจุพระอรหันตสารีริกธาตุ พร้อมกับองค์พระพุทธรูปทองคำ และของมีค่าต่างๆ ที่ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาได้ถวายผู้ที่ไป นมัสการพระธาตุแห่งนี้จะได้รับอานิสงส์ เสริมบุญบารมี และมีอำนาจวาสนาเป็นเจ้าคนนายคน


พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) เดิมเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของ พระยาอดุลยเดชสยามเมศวรภัคดีพิริยพาหะ (อุ้ย นาครทรรพ) เทศาภิบาลมณฑลอุดรธานี ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรก ก่อสร้างสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2455-2457 ผู้สร้างเป็นชาวญวน ชั้นบนและล่างไม่มีเสา และไม่มีการตอกตะปูแม้แต่ดอกเดียว ใช้การเข้าเดือยไม้ ต่อมาพระยาอดุลยเดชฯ ได้ขายอาคารหลังนี้ให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้เป็นที่พักของ ผู้ว่าฯ เมื่อ พ.ศ. 2470 ในราคา 2 หมื่นบาท และในระหว่างวันที่ 12-13 พ.ย. 2498 ในหลวงและพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางจังหวัดจึงจัดให้จวนแห่งนี้เป็นที่ประทับแรม


วัดนักบุญอันนา หนองแสง
เป็นโบสถ์คริสต์ที่มีความเก่าแก่สวยงามแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม ตั้งอยู่บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร ซึ่งเป็นถนนเรียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่บ้านหนองแสง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม ฝั่งตรงข้ามคือประเทศลาว ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1926 โดยบาทหลวงเอดัวร์ นำลาภ อธิการโบสถ์ วัดนักบุญอันนาหนองแสงนี้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่มีคนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่รวมกัน เช่น คนญวน คนไทย คนจีน คนลาวเป็นต้น วัดนักบุญมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตา และยังมีอาคารที่ทำการศาสนกิจของบาทหลวงนิกายคาทอลิก ก่อตั้งโดยบาทหลวงเอดัวร์นำลาภ ภายหลังจัดตั้งเป็นมูลนิธิบาทหลวงเอดัวร์นำลาภ อาคารหลังนี้มีสถาปัตยกรรมแบบโคโรเนียลก่อด้วยอิฐปูน ภายนอกสีเหลืองสวยงาม สร้างราวปี ค.ศ.1952 การก่อสร้าง ใช้วัสดุก่อสร้างบางอย่างนำเข้ามาจากเมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม


หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯนครพนม
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ พลเอกมานะ รัตนโกเศศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม และดํารง ตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น ให้การสนับสนุนที่จะจัดตั้งหอสมุดแห่งชาติสาขาขึ้น ที่จังหวัดนครพนม เพื่อให้เป็นศูนย์รวมแห่งการเรียนรู้ที่จะเอื้อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในจังหวัดนครพนม และจังหวัดใกล้เคียง โดยการเข้าร่วมเป็นกิจกรรมหนึ่งใน โครงการที่รัฐบาลจัดขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นราชสักการะเพื่อเฉลิมพระเกียรติติสมเด็จพระนาง เจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ (๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕) และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนาง เจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม”


บ้านลุงโฮ
บ้านลุงโฮจิมินห์ (บ้านนาจอก) เป็นบ้านที่ โฮจิมินห์ อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พักอาศัยอยู่เมื่อครั้งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อกอบกู้เอกราชของเวียดนามจากฝรั่งเศส ระหว่าง พ.ศ. 2467-2474 เป็นเวลา 7 ปี โดยใช้บ้านพักแห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับติดต่อประสานงาน วางแผน และเคลื่อนไหวในการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาติ ลักษณะเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวคล้ายบ้านสวนแบบโบราณ ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของท่านโฮจิมินห์ บริเวณบ้านมีต้นมะเฟืองและต้นมะพร้าวที่ปลูกโดยท่านโฮจิมินห์ยืนต้นอยู่ และหลังบ้านมียุ้งข้าวโบราณให้ได้ชม นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังมี พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียดนาม ที่สร้างขึ้นใหม่ในภายหลัง จัดแสดงเรื่องราวชีวประวัติของท่านโฮจิมินห์ให้ได้ศึกษาด้วย ทั้งตัวบ้านพักและพิพิธภัณฑ์ฯ


สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 นครพนม
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 (อังกฤษ: Third Thai–Lao Friendship Bridge; ลาว: ຂົວມິດຕະພາບລາວ-ໄທ ແຫ່ງທີ 3)[1] เป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยที่หมู่ที่ 1 บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม กับประเทศลาวที่บ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน
ควบคุมการก่อสร้างโดยสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงและบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างใช้งบประมาณก่อสร้างจากรัฐบาลไทยทั้งสิ้น 1,723 ล้านบาท มีระยะเวลาการก่อสร้างรวม 900 วัน แล้วเสร็จในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งด้านการค้า และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และภาคใต้ของประเทศจีน ซึ่งมีความยาวรวม 1,423 เมตร มีความกว้าง 13 เมตร และมีการช่องจราจร 2 ช่อง และไม่มีทางรถไฟ และเพื่อเป็นการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2015
ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม - คำม่วน) วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552 ณ มณฑลพิธี บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม และเสด็จทรงเป็นประธานพิธีเปิดอย่างเป็นทางการร่วมกับสหายบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศลาว ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 11.11 น.


พระธาตุท่าอุเทน
พระธาตุท่าอุเทน ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม องค์พระธาตุก่ออิฐถือปูนเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมคล้ายพระธาตุพนม สร้างเป็น 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นอุโมงค์บรรจุของมีค่าต่าง ๆ ชั้นที่ 2 สร้างครอบอุโมงค์ ชั้นที่ 3 คือเจดีย์องค์ใหญ่ สูงประมาณ 66 เมตร พระอาจารย์ศรีทัตถ์เป็นผู้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2454 ใช้เวลาทั้งสิ้น 6 ปี จึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 เมื่อปี พ.ศ. 2540 ส่วนซุ้มประตูชั้นล่างขององค์พระธาตุด้านทิศใต้ได้พังทลายลง กรมศิลปากรจึงได้ทำการบูรณะจนแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2541 พร้อมทั้งได้ทำการเสริมคานคอนกรีตภายในเพื่อป้องกันองค์พระธาตุพังทลาย วัดพระธาตุท่าอุเทน ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนพิเศษ 4ง หน้า 2 ลงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2541 มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน 89.48 ตารางวา พระธาตุนี้เป็นศิลปกรรมและปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งองค์หนึ่ง บรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ ซึ่งพระอาจารย์ศรีทัตถ์ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง จะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี พระธาตุองค์นี้มีสิ่งที่ตรงกับเทพประจำวันศุกร์ และเชื่อกันว่าผู้ที่เกิดวันนี้เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รักอิสระ รักสวยรักงาม คือพระธาตุหันไปทางทิศเหนือของพระธาตุพนม ตรงกับทิศประจำของพระศุกร์ ผู้ที่ไปนมัสการพระธาตุแห่งนี้จะได้รับอานิสงส์ให้ชีวิตมีความรุ่งโรจน์ เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณ


พระธาตุศรีคุณ
สำหรับ "พระธาตุศรีคุณ" ถือเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมือง ชาว อ.นาแก จ.นครพนม ประดิษฐานอยู่ที่วัดธาตุศรีคุณ อำเภอนาแก พระธาตุองค์นี้ถูกค้นพบเมื่อประมาณ พ.ศ. 2340 และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2486-2490 มีลักษณะคล้ายองค์พระธาตุพนม ซึ่งถือเป็นพระธาตุบริหารองค์พระธาตุพนม ภายในบรรจุพระอรหันตสารีริกธาตุของพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอัครสาวกซ้ายขวาของพระพุทธเจ้า และพระสังกัจจายนะ ตามตำนานของพระธาตุองค์นี้มีกษัตริย์นักรบเป็นผู้ก่อสร้าง ตรงกับลักษณะของคนที่เกิดวันอังคารซึ่งจะเป็นนักต่อสู้ มีน้ำอดน้ำทนเป็นเยี่ยม เชื่อว่าหากใครได้ไปสักการะจะได้อานิสงส์ มีศักดิ์ศรีทวีคูณ และจะเสริมพลังนักสู้ให้มีจิตใจเข้มแข็งขึ้น ทำให้ในช่วงวันสำคัญต่างๆ จะมีประชาชน นักท่องเที่ยว มากราบไหว้บูชา จำนวนมาก


พระธาตุมหาชัย
วัดพระธาตุมหาชัย เป็นพระธาตุประจำวันผู้ที่เกิดวันพุธ ประดิษฐานอยู่บ้านมหาชัย ตำบลมหาชัย องค์พระธาตุสูง 37 เมตร เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง เพราะเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันต์สารีริกธาตุ ภายในพระอุโบสถนอกจากพระประธานคือ พระพุทธไชยสิทธิ์แล้วยังมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติสลักจากไม้ต้นสะเดาหวานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และภาพเขียนบนฝาผนังอุโบสถแสดงพุทธประวัติ มีลวดลายศิลปกรรมที่งดงามมากในภาคอีสาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่พระธาตุมหาชัย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา และที่วัดนี้ยังเป็นที่จำพรรษาของพระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ) พระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนาที่สำคัญองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวนครพนมและชาวอีสานทั่วไป


พระธาตุประสิทธิ์
พระธาตุประสิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า ระยะทางห่างจากจังหวัดนครพนม 93 กิโลเมตร เดิมเป็นเจดีย์โบราณไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2436 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยจำลองรูปทรงมาจากองค์พระธาตุพนม ลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยม วัดโดยรอบฐานได้ 20.80 เมตร สูง 28.52 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตสารีริกธาตุรวม 7 องค์ พระพุทธรูปเก่าแก่ดินจากสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย 4 แห่ง และพระพุทธบาทจำลองที่อัญเชิญมาจากกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2500 ตามตำนานบอกไว้ว่าพระธาตุประสิทธิ์นี้มีพระเป็นผู้สร้าง และเทพประจำวันพฤหัสบดีพระฤๅษี พราหมณ์ผู้เฒ่า ที่สำคัญพระประธานของวัดอยู่ประจำทิศตะวันตก ตรงกับพระพฤหัสบดี ที่อยู่ทิศตะวันตกเช่นกัน

